วันพฤหัสบดีที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550


ถ้าจะกล่าวถึงศิลปกรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จิตรกรรมเป็นศิลปะอีกประเภทหนึ่งที่พระองค์สนพระราชหฤทัยมากจนกระทั่งได้ทรงฝึกฝนเขียนภาพด้วยพระองค์เอง จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ของพระองค์ในระยะแรก ๆ จะเป็นที่ทราบกันและมีโอกาสได้ชมกันในวงแคบเฉพาะผู้ที่สนใจในงานด้านนี้เท่านั้น บรรดาศิลปินอาวุโสและมีชื่อเสียงของไทยซึ่งเคยได้มีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เพื่อร่วมปฏิสันถารและแข่งขันการวาดภาพ ถวายคำปรึกษาแด่พระองค์ท่านในช่วงระยะเวลาระหว่างที่พระองค์สนพระราชหฤทัยใคร่จะได้มีผู้สนใจงานด้านนี้ไว้เพื่อทรงวิสาสะด้วยจึงทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อถวายคำปรึกษาในการเขียนภาพ ในระยะนั้นมีอาจารย์เหม เวชกร อาจารย์เขียน ยิ้มศิริ อาจารย์จำรัส เกียรติก้อง ศิลปินที่กล่าวนามมานี้ ต่างก็เสียชีวิตไปหมดแล้ว ที่ยังมีชีวิตอยู่ก็มี อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ อาจารย์ไพฑูรย์ เมืองสมบูรณ์ อาจารย์จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์ อาจารย์เฉลิม นาคีรักษ์ อาจารย์อวบ สาณะเสน และอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ เป็นต้น จากปากคำของศิลปินเหล่านี้เป็นที่ทราบว่าพระองค์ทรงเขียนภาพด้วยพระองค์เองตามแนวพระราชดำริ การถวายคำปรึกษานั้นเป็นเพียงด้านเทคนิคในการเขียนภาพเท่านั้น และพระองค์มักจะมีพระราชดำรัสถามแต่เพียงว่า "พอไปได้ไหม"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยงานศิลปะด้านจิตรกรรม ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ครั้งที่ยังประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (ประมาณพุทธศักราช ๒๔๘๐ - ๒๔๘๘) โดยทรงศึกษาด้วยพระองค์เองทรงฝึกเขียนเอง และทรงศึกษาจากตำราต่าง ๆ ทั้งที่ ทรงซื้อด้วยพระองค์เองและที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อสนพระราชหฤทัยงานเขียนของศิลปินผู้ใดก็จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมศิลปินผู้นั้นถึงที่พัก เพื่อทรงมีพระราชปฏิสันถารและทอดพระเนตร วิธีการทำงานของเขาไม่ว่าจะเป็นวิธีการใช้สี การผสมสี ตลอดจน เทคนิควิธีการต่าง ๆ เมื่อทรงเข้าพระราชหฤทัยการทำงานของเขาอย่างถ่องแท้แล้ว ก็จะทรงนำวิธีการเหล่านั้นมาทรงฝึกฝนด้วยพระองค์เอง ทั้งนี้ก็มิใช่ว่าจะเสด็จฯ ไปเพียงครั้งเดียว แต่จะเสด็จฯ ไปบ่อย ๆ จนทรงเข้าพระราชหฤทัยในการสร้างสรรค์งานของศิลปินเหล่านั้นเป็นอย่างดี การที่เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรงานของศิลปินที่พระองค์สนพระราชหฤทัยนั้น มิใช่เพื่อจะทรงลอกเลียนแบบงานของศิลปินเหล่านั้น เพียงแต่พระองค์ทรงนำวิธีการทำงานของเขามาสร้างสรรค์งานของพระองค์ขึ้นมาใหม่ให้เป็นแบบฉบับของพระองค์เอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นศิลปินโดยแท้ ทรงชื่นชมในงานศิลปินอื่นเสมอ และดูจะไม่เคยทรงพอพระราชหฤทัยกับภาพเขียนของพระองค์และวิธีการที่ทรงเคยใช้อยู่แล้ว และแม้ว่าโปรดที่จะค้นคว้าหาวิธีใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ภาพฝีพระหัตถ์ของพระองค์ยังคงเค้าลักษณะอันเป็นแบบฉบับของพระองค์เองโดยเฉพาะ ขณะที่ทรงวาดภาพนามธรรมที่มองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้ แต่เป็นสาระ ดังเช่น ภาพที่พระราชทานชื่อว่า "วัฏฏะ" "โลภะ" "โทสะ" "ยุแหย่" "อ่อนโยน" "บุคลิกซ้อน" ก็ยังทรงเขียนรูปในลักษณะสวยงามน่ารัก กระจุ๋ม กระจิ๋มได้ดีอีกด้วย ทั้งที่ไม่สู้จะตรงกับพระราชอัธยาศัยเท่าใดนัก ในฐานะจิตรกร ขณะทรงงานทรงใส่อารมณ์และความรู้สึกของจิตรกรอย่างเต็มที่ ทรงมีความรู้สึกตรงและรุนแรง ทรงใช้สีสดและเส้นกล้า ส่วนมากโปรดเส้นโค้ง แต่ในบางครั้งบางคราวก็มีข้อดลพระราชหฤทัยให้ทรงใช้เส้นตรงและเส้นแบบฟันเลื่อย"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงงานจิตรกรรมตั้งแต่ขึ้นครองราชย์จนถึงราว ๆ พุทธศักราช ๒๕๑๐ ก็มิได้ทรงเขียนภาพอีก เพราะทรงมีพระราชภารกิจด้านอื่นที่ต้องทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม ทรงอุทิศเวลาส่วนใหญ่เพื่อประชาชน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมราษฎรและทรงเข้าร่วมแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของราษฎร ทรงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการพัฒนาในด้านต่าง ๆ อีกจำนวนมากทั้งด้าน การเกษตร การชลประทาน ฯลฯ เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม จึงไม่ทรงมีเวลาสร้างผลงานด้านจิตรกรรม ถึงกระนั้นก็ปรากฏว่ามีภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ที่เผยแพร่แล้วจำนวน ๔๗ ภาพ และที่ยังไม่เคยเผยแพร่อีกจำนวนประมาณ ๖๐ ภาพ

ไม่มีความคิดเห็น: